เอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม ถวายพระราชสาส์นตราตั้งฯ แด่สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสวีเดน
เมื่อวันอังคารที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๖ นางอรุณรุ่ง โพธิ์ทอง ฮัมฟรีย์ส เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มประจำราชอาณาจักรสวีเดน ได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ ๑๖ กุสตาฟ แห่งราชอาณาจักรสวีเดน ณ พระราชวังกรุงสตอกโฮล์ม ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงสตอกโฮล์ม
ในโอกาสดังกล่าว สำนักพระราชวังสวีเดนกรุงสตอกโฮล์มได้จัดพิธีอย่างสมเกียรติตามแบบโบราณราชประเพณี โดยมีเอกอัครราชทูต Caroline Fleetwood ตำแหน่ง Marshal of the Diplomat Corps เดินทางมารับเอกอัครราชทูตฯ พร้อมคณะไปยังกระทรวงการต่างประเทศสวีเดน และเดินทางต่อไปยังพระราชวังกรุงสตอกโฮล์มด้วยรถม้า ขณะที่เอกอัครราชทูตฯ เดินทางถึงพระราชวังฯ วงดุริยางค์ได้บรรเลงเพลงและมีทหารกองเกียรติยศยืนเข้าแถวแสดงความเคารพ ในโอกาสนี้ สมเด็จพระราชาธิบดีฯ ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับเอกอัครราชทูตฯ เป็นเวลาประมาณ ๒๐ นาที
ภายหลังเสร็จสิ้นพิธี สถานเอกอัครราชทูตฯ จัดงานเลี้ยงรับรองที่สถานเอกอัครราชทูตในโอกาสที่เอกอัครราชทูตฯ เข้าเฝ้าฯ โดยมีข้าราชการ เจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูต และหน่วยงานทีมประเทศไทย เข้าร่วม
- ไทยและสวีเดนมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน นับตั้งแต่ที่ทั้งสองประเทศได้ทำสนธิสัญญามิตรภาพ การพาณิชย์ และการเดินเรือ (The Treaty of Friendship, Commerce and Navigation of 1868) เมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๑๑
- เมื่อปี ๒๔๒๕ ไทยได้แต่งตั้งให้อัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน ให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำสวีเดนด้วยอีกหนึ่งตำแหน่ง โดยหม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย อัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำสวีเดนคนแรก
- เมื่อปี ๒๔๘๗ ไทยได้เปิดสถานอัครราชทูตประจำกรุงสตอกโฮล์มขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเมื่อปี ๒๔๙๗ ไทยได้ปิดสถานอัครราชทูตฯ และให้อัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตประจำสวีเดน จนนกระทั่งปี ๒๕๐๒ ไทยและสวีเดนได้ยกฐานะความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูต และไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์ม เมื่อปี ๒๕๐๖
ติดตามเรื่องราวของกรมพิธีการทูตได้ที่
Facebook: protocolMFAThailand
Instagram: ProtocolMFAThailand