โครงการนำคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยและคู่สมรสทัศนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประจำปี ๒๕๖๓ ณ จังหวัดเชียงราย

โครงการนำคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยและคู่สมรสทัศนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประจำปี ๒๕๖๓ ณ จังหวัดเชียงราย

วันที่นำเข้าข้อมูล 6 มี.ค. 2563

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 2,419 view
ระหว่างวันที่ ๒๔ - ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ นายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และภริยา พร้อมผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศนำคณะทูตต่างประเทศ ผู้แทนกงสุลและองค์การระหว่างประเทศประจำประเทศไทยพร้อมคู่สมรส จำนวน ๕๓ คน จาก ๓๔ ประเทศ ๑ องค์การระหว่างประเทศ พร้อมทั้งผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมโครงการนำคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยและคู่สมรส ทัศนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ประจำปี ๒๕๖๓ ณ จังหวัดเชียงราย
 
โดยเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานวโรกาสให้คณะทูตฯ เข้าร่วมชมโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๒ โครงการ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ดังนี้
 
หนึ่ง ชุมชนบ้านสันทางหลวง อำเภอแม่จัน ซึ่งเป็นโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนาและ ศูนย์การพัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ โดยทอดพระเนตรนิทรรศการเรียนรู้วิถีชีวิตและการสาธิตงานศิลปหัตถกรรมบ้าน ๖ ฐาน อาทิ ถุงผ้าเมล็ดชาและหมอนใบชา เป็นถุงผ้าฝ้ายบรรจุใบชาอัสสัมจากดอยแม่สลอง ช่วยดูดกลิ่นอับชื้น และช่วยให้ผ่อนคลาย ฐานตุ๊กตาไทยยอง ฐานการทอผ้าพื้นเมือง และฐานอาหารพื้นเมือง บ้านสันทางหลวงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และยังมีจุดเด่นเกี่ยวกับ "วิถีชาวไทยอง" ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นรวมถึงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่มีประวัติเก่าแก่ สำหรับบ้านสันทางหลวงนี้ มีบ้านเรือนอยู่ประมาณ ๑๒๘ หลังคาเรือน มีประชากรราว ๔๖๙ คน ด้วยความโดดเด่นด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณีคนยองที่มีเอกลักษณ์ ทำให้ได้รับคัดเลือกให้เป็น "หมู่บ้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์" จากกระทรวงวัฒนธรรม และปัจจุบันได้รับการส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกับวิถีชุมชน โดยชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการการท่องเที่ยวเอง
 
สอง ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมัน อำเภอ แม่สาย โครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมันของมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นโครงการที่ดำเนินงานสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ศูนย์วิจัยและพัฒนาชาน้ำมันและพืชน้ำมันได้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยมีวัตถุประสงค์ในการปลูกชาน้ำมันเพื่อแก้ไขปัญหาป่าเสื่อมโทรมและสร้างรายได้เพี่อแก้ไขความยากจนโดยจ้างปลูกและดูแลในระยะเริ่มต้น เก็บเกี่ยวและแปรรูปผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเพิ่มมูลค่าในระยะยาว อีกทั้งเป็นการป้องกันการกัดเซาะพังทลายของหน้าดินบริเวณเชิงเขา ในโอกาสนี้ ทรงสาธิตการปรุงอาหาร “กระทงทองน้ำมันเมล็ดชา” รวมทั้งฉายพระฉายาลักษณ์และร่วมเสวยพระกระยาหารเย็น ร่วมกับคณะทูตฯ
 
ระหว่างการเยือนจังหวัดเชียงราย คณะทูตฯ ได้มีโอกาสศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริหลายโครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาดอยตุง ณ หอแรงบันดาลใจ ดอยตุง อ. แม่ฟ้าหลวง ซึ่งเป็นนิทรรศการแบบสื่อผสมผสาน ที่มีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนชาวไทยรวมถึงชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวได้รู้จักและเข้าใจถึงแนวพระราชดำริพระราชจริยวัตรในการทำงาน และพระวิริยะอุตสาหะที่มุ่งพัฒนาความเป็นอยู่ของคนไทยของสมาชิกทั้งห้าพระองค์ในราชสกุลมหิดล อันประกอบด้วย สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ 
 
คณะทูตฯ ได้เยี่ยมชมสวนแม่ฟ้าหลวงหรือสวนดอยตุง ซึ่งเป็นสวนไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาว โดยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี มีพระราชประสงค์ให้ปลูกสวนเพื่อให้ประชาชนที่ไม่มีโอกาสไปต่างประเทศได้รู้จักและชื่นชมดอกไม้ที่แปลกตาแตกต่างจากที่พบเห็นโดยทั่วไป ภายในสวนได้รับการออกแบบตกแต่งด้วยพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับนับหมื่นอย่างสวยงามยิ่ง ราวกับผืนพรมธรรมชาติที่แปรเปลี่ยนไปตามทุกฤดูกาลละลานตาด้วยแปลงไม้ดอก และไม้พุ่ม ดอกไม้ที่นี่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนออกดอกตลอดทุกวันของปี นอกจากนี้ คณะทูตฯ ได้ศึกษาดูงานเกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์และการพัฒนาอาชีพของโครงการพัฒนาดอยตุง ประกอบด้วย โรงงานทอผ้าพื้นเมือง โรงงานผลิตกระดาษสา โรงงานแปรรูปกาแฟ และโรงงานเซรามิก 
 
คณะทูตฯ ได้มีโอกาสรับทราบความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ สังคมและศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงราย โดยเยี่ยมชมอุทยานศิลปวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวง หรือไร่แม่ฟ้าหลวงซึ่งเดิมเป็นสถานที่ทำการของมูลนิธิส่งเสริมผลผลิตชาวเขาไทย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อหาตลาดให้งานหัตถกรรมที่เป็นศิลปะของชาวไทยภูเขา ปัจจุบันเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญของภาคเหนือ เปิดให้นักท่องเที่ยวชมงานพุทธศิลป์เก่าแก่ โบราณวัตถุอายุนับศตวรรษ ศิลปวัตถุรังสรรค์จากไม้สัก มีอาคารสถาปัตยกรรมล้านนาที่งดงามท่ามกลางความเขียวชอุ่ม ร่มรื่นของพรรณไม้ท้องถิ่น นอกจากนี้ เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์บ้านดำและหอศิลป์ของนายถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ด้านจิตรกรรม พ.ศ. ๒๕๔๕ เยี่ยมชมวัดร่องขุนและหอศิลป์ของนายเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ด้านจิตรกรรม พ.ศ. ๒๕๕๔ รวมถึงการเยี่ยมชมสิงห์ปาร์คโดยรถราง ทั้งนี้ คณะทูตฯ ยังได้ลิ้มลองอาหารท้องถิ่นและรับชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น อีกด้วย
 
คณะทูตฯ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ต่างประทับใจในความรู้ที่ได้รับจากกิจกรรมต่าง ๆ  เพราะนอกจากจะได้เรียนรู้และเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อันเป็นศาสตร์การพัฒนาที่มีความเป็นสากล และช่วยขับเคลื่อนวาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งหน่วยงานราชการไทยได้น้อมนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาชุมชนและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบแล้ว ยังได้ตระหนักถึงพระมหากรุณาธิคุณและพระกรุณาธิคุณของพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทย ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในหลายสาขา นอกจากนี้ ยังได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับจังหวัดเชียงราย หลากหลายแง่มุม ทั้งด้านศักยภาพทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งได้สัมผัสวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด นอกจากนั้น คณะทูตฯ ยังได้ประจักษ์และยอมรับบทบาทของประเทศไทยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยได้ประจักษ์ถึงความสำเร็จของโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่เป็นรูปธรรมและส่งผลต่อการพัฒนาชีวิตของประชาชนชาวไทย อีกด้วย
 
กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินโครงการนำคณะทูตต่างประเทศประจำประเทศไทยและคู่สมรสเดินทางไปทัศนศึกษาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์ในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความผูกพันของสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนไทย นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างโอกาสให้คณะทูตฯ ได้สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่และอัตลักษณ์ท้องถิ่นของไทย รวมทั้งเปิดโอกาสให้คณะทูตฯ ได้ใกล้ชิดและสานสัมพันธ์กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในบรรยากาศที่ผ่อนคลายและเป็นกันเอง

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ