การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN FMs Retreat) วันที่ 18 มกราคม 2562

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN FMs Retreat) วันที่ 18 มกราคม 2562

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ม.ค. 2562

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,291 view

ไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Retreat) ระหว่างวันที่ 17-18 มกราคม 2562 ที่จังหวัดเชียงใหม่ การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนครั้งแรกในฐานะประธานอาเซียนของไทย โดยในโอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและประชาชนชาวเชียงใหม่ได้ให้การต้อนรับรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างอบอุ่น

ที่ประชุมได้หารือในประเด็นที่อาเซียนให้ความสำคัญในปีนี้ รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนให้การสนับสนุนการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนของไทยภายใต้แนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” และเน้นย้ำความสำคัญของความต่อเนื่องในการสานต่อประเด็นที่อาเซียนได้ให้ความสำคัญจากอดีตและต่อไปยังอนาคต ที่ประชุมยังได้สนับสนุนประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญ ได้แก่ ดิจิตอลและอาเซียนสีเขียว อาเซียนที่ไร้รอยต่อ การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2562 ตลอดจนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทุกสิ่ง ซึ่งจะส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ให้การสนับสนุนแนวทางของไทยในการสร้างความเกื้อกูลระหว่างวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 กับวาระเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติ ซึ่งรวมถึงการเปิดตัวศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทยภายในปีนี้

รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนได้หารือเกี่ยวกับแนวทางในการสร้างประชาคมอาเซียนในขั้นต่อไป การส่งเสริมความสัมพันธ์ของอาเซียนกับภาคีภายนอก การส่งเสริมสถาปัตยกรรมในภูมิภาคที่มีอาเซียนเป็นศูนย์กลาง ตลอดจนเน้นย้ำความสำคัญของภาคีของสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (TAC) และเห็นชอบต่อคำขอเข้าร่วมเป็นภาคี TAC ของสาธารณรัฐเปรู

ที่ประชุมยังได้หารือเกี่ยวกับพัฒนาการในภูมิภาคและในเวทีระหว่างประเทศ โดยได้สนับสนุนบทบาทที่ชัดเจนและเพิ่มมากขึ้นของอาเซียนในการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่ ผ่านศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติ (AHA Centre) ซึ่งให้ความช่วยเหลือเมียนมาในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์มนุษยธรรมและสนับสนุนกระบวนการส่งกลับผู้ผลัดถิ่นสู่รัฐยะไข่ ที่ประชุมยังยินดีต่อบทบาทการเป็นผู้อำนวยความสะดวกของเลขาธิการอาเซียน เพื่อกระชับการประสานงานอย่างใกล้ชิดระหว่างคณะทำงานการประเมินความต้องการจำเป็น (Needs Assessment Mission) ของ AHA Centre และประเทศสมาชิกอาเซียน

นับได้ว่าไทยประสบความสำเร็จในการจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการในครั้งนี้ ซึ่งจะส่วนสำคัญในการเสริมสร้างพลวัตของการเป็นประธานอาเซียนของไทยตลอดปี  2562

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ